13 สิงหาคม 2567

CMAN กำไรไตรมาส 2/67 ดีตามคาด ส่งออกโต ต้นทุนลด มั่นใจผลงานปี 67 ผ่านฉลุย

บมจ.เคมีแมน (CMAN) เผยผลงานไตรมาส 2/67 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.2% y-o-y หนุนกำไรครึ่งปีแรกอยู่ที่ 264 ล้านบาท มากกว่ากำไรทั้งปี 66 เกือบเท่าตัว มั่นใจปี 67 สร้างสถิติใหม่ เตรียมตอกเสาเข็มโรงงานแห่งที่ 3 ในอินเดีย 15 สิงหานี้

หม่อมหลวงจันทรจุฑา จันทรทัต ประธานกรรมการ บริษัท เคมีแมน จำกัด (มหาชน) (CMAN) ผู้ผลิตปูนไลม์ระดับโลก ภายใต้แบรนด์ 'CHEMEMAN' เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/67 บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการจำนวน 935 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.2% และกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และรายการพิเศษ อยู่ที่ 276 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.3% ขณะที่กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

"ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีปริมาณการขายใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่สัดส่วนการส่งออกมากกว่า ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ขณะที่ยอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากความต้องการปูนไลม์จากอุตสาหกรรมน้ำตาลและเยื่อกระดาษลดลง อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 37.3% เพิ่มขึ้น 3.9% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากต้นทุนพลังงานและการผลิตลดลง รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนลงทำให้รับรู้รายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนต้นทุนทางการเงินลดลง 18.3% เนื่องจากภาระหนี้สินน้อยลงและอัตราดอกเบี้ยลดลงจากการแปลงเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมาเป็นเงินบาท ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 91 ล้านบาท หากไม่นับผลกระทบจากรายการพิเศษที่ไม่ใช่เงินสด กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 115 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน" ม.ล.จันทรจุฑากล่าว

สำหรับแนวโน้มครึ่งปีหลัง บริษัทคาดว่าจะสามารถรักษาอัตรากำไรในระดับที่น่าพอใจ บริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และชำระคืนเงินกู้ระยะยาวได้ตามกำหนด ขณะเดียวกัน โครงการลงทุนในต่างประเทศก็ยังคงคืบหน้าตามแผนงาน โดยในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ จะมีพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อเริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตปูนไลม์แห่งใหม่ที่เมืองคิมซ่า รัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ Khimsar Mine Corporation (KMC)

"ผลการดำเนินงานไตรมาสนี้แข็งแรงมาก แสดงถึงความสำเร็จของบริษัทในการขยายฐานลูกค้า การควบคุมต้นทุนพลังงานและการผลิต และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจชะลอตัว บริษัทใช้กลยุทธ์หลักในการบริหารความเสี่ยง สร้างความแข็งแกร่งผ่านการเป็นพันธมิตรกับลูกค้าและคู่ค้า การจัดการต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ และการลดต้นทุนทางการเงิน ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวและการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถสร้างผลงานที่ดีมากในปีนี้" ม.ล.จันทรจุฑา กล่าวเพิ่มเติม

ติดต่อเรา